การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21
ผู้เขียน :
ธีรพงษ์ จันเปรียง และวิวัฒน์ เพชรศรี
เผยแพร่วันที่ :
1 ม.ค. 2563
ประเภท :
บทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติ
วารสารวิชาการ :
วารสารครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
เล่มที่ :
32
ฉบับที่ :
1
หน้า :
361-376
ผู้เผยแพร่ :
งานวารสารครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
รายละเอียด :
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 และ 2) จัดทำข้อมูลเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 โดยวิธีดำเนินการวิจัยแบบผสมผสานวิธี ภายใต้แนวคิด ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ 6 กระบวนการหลัก ใช้ระยะเวลาในการ อบรม 8 ชั่วโมง ต่อ 1 กระบวนการ กลุ่มที่ศึกษา ได้แก่ 1) กลุ่มเป้าหมายเชิงปริมาณ จำนวน 38 คน ใช้ในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี คณะครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 4 และได้รับการคัดเลือกเข้ารับการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่21, 2) กลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพและผู้ให้ข้อมูล จำนวน 67 คน ประกอบด้วย นักศึกษาที่เข้ารับการพัฒนา, ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่นักศึกษาไปฝึกสอน, ครูพี่เลี้ยงของนักศึกษา, เพื่อนของนักศึกษาที่ผ่านการพัฒนา, อาจารย์นิเทศทั่วไป, และอาจารย์นิเทศประจำสาขาวิชา วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นตอนที่ 2 การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ 1) แบบสอบถาม มีจำนวน 1 ฉบับ ใช้สอบถามผู้เข้ารับการพัฒนา 2) แบบสัมภาษณ์ มีจำนวน 6 ฉบับ จำแนกเป็น แบบสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการพัฒนา แบบสัมภาษณ์ ผู้บริหารสถานศึกษาของนักศึกษาฝึกสอน แบบสัมภาษณ์ครูพี่เลี้ยง แบบสัมภาษณ์เพื่อนของนักศึกษาที่ผ่านการพัฒนา แบบสัมภาษณ์อาจารย์นิเทศทั่วไป และแบบสัมภาษณ์อาจารย์นิเทศประจำสาขาวิชา 3) แนวการสนทนากลุ่ม มีจำนวน 2 ฉบับ จำแนกเป็น แนวทางการสนทนากลุ่มผู้เข้ารับการพัฒนาและแนวทางการสนทนากลุ่มเพื่อนของนักศึกษาที่ผ่านการพัฒนา ผลการวิจัยพบว่า 1. การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 ด้านกระบวนการ พบว่า กระบวนการพัฒนาที่ใช้ในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า รายข้อที่มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ที่ 2 กระบวนทัศน์ทางการศึกษาใหม่และหลักการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ด้านกระบวนการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่ากระบวนการพัฒนาที่ใช้วิธีการที่หลากหลาย ทำให้ผู้เข้ารับการพัฒนาเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ๆ เปิดมุมมองด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น มุมมองด้านการศึกษาของกัลยาณมิตรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในแต่ละด้านได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และให้ประสบการณ์อันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียนรู้ได้ผลที่สุดและการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องในกระบวนการในทุกโมดูล ทำให้เห็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการได้เป็นอย่างดี ด้านผลผลิต พบว่า ผลที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์ของโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ มีแนวคิดมุมมองใหม่ในการพัฒนางานเพิ่มขึ้น สามารถสร้างเครือข่ายในการทำงาน ร่วมกันระหว่างผู้เข้ารับการพัฒนากับหน่วยงานหรือบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา และเกิดแนวคิดการจัดกิจกรรมแบบเชิงรุกในการพัฒนางานตามลำดับ และผู้เข้ารับการพัฒนาได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ด้านผลผลิต พบว่า ผู้เข้ารับการพัฒนาเห็นว่าได้รับความรู้ ได้มุมมองและประสบการณ์ใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนทัศน์ในการจัดการจัดการศึกษาเป็นอย่างดีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ เกิดเครือข่ายการทำงานจากบุคลากรหลากหลายสังกัดทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มความรู้ซึ่งกันและกันที่ดีมาก และการเข้าร่วมโครงการส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง การทำงานและมุมมอง แนวคิดในการสร้างสรรค์ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน ยึดมั่นความถูกต้องและความดีงาม ด้านผลลัพธ์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการอยู่ในระดับมาก สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การนำแนวคิดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกไปขยายผลในสถานศึกษา ส่งต่อองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้ในระดับสถานศึกษาให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 2. แนวทางในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 โดยภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ควรจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มผู้เข้ารับการพัฒนา หรือควรมีกิจกรรมในการสานสัมพันธ์ในรุ่นเดียวกันเป็นระยะๆ หมุนเวียนในแต่ละโรงเรียนต่างๆ โดยการร่วมกันพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสม อยากให้มีโครงการวิจัยนี้ต่อไป เพื่อเกิดคลื่นลูกใหม่ พร้อมจะเข้ามาปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษาของประเทศ การทำโครงการวิจัยควรมีการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลที่เกิดจริง ควรพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าโครงการที่เหมาะสมที่สามารถดำเนินการตามภาระงานของโครงการวิจัยได้ ควรมีการถอดประสบการณ์การทำงานในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 โดยจัดทำเป็นเอกสารคู่มือเพื่อให้ผู้ที่พัฒนาไปแล้วหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษาทบทวนใคร่ครวญบางประเด็นเพื่อการทำความเข้าใจตกผลึกยิ่งขึ้น การทำโครงการวิจัยควรเป็นประเด็นที่ผู้เข้าร่วมโครงการสนใจและเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับภาระงานที่รับผิดชอบ และควรประชาสัมพันธ์โมดูลการพัฒนาทักษะกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ให้หน่วยงานอื่นที่จะพัฒนาครูในลักษณะเดียวกัน คำสำคัญ : การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้, ทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับครูในศตวรรษที่ 21
ลิงค์ :