แนวทางการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ผู้เขียน :
ปฏิภาณ กิตตินันทวัฒน์ , เหมือนฝัน คงสมแสวง , ปฐมาพร อินทรศักดิ์
เผยแพร่วันที่ :
1 มิ.ย. 2565
วารสารวิชาการ :
วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์
เล่มที่ :
16
ฉบับที่ :
1
หน้า :
283-323
ผู้เผยแพร่ :
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
รายละเอียด :
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และเพื่อศึกษาแนวทางการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผลการศึกษาพบว่า การสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี นั้นนิยมใช้การสื่อสาร 5 ลักษณะด้วยกัน คือ 1) ใช้สุนัขสื่อสารเฝ้าระวังภัย 2) ใช้ป้ายสื่อสารเฝ้าระวังภัย 3) ใช้วิทยุสื่อสารเฝ้าระวังภัย 4) ใช้กล้องวงจรปิดสื่อสารเฝ้าระวังภัย 5) ใช้แอปพลิเคชันสื่อสารเฝ้าระวังภัย วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พบว่า 1) การใช้สุนัขสื่อสารเฝ้าระวังภัย สายพันธุ์ต่างประเทศสามารถเห่าส่งสัญญาณเมื่อช้างมาเข้าใกล้ได้ แต่สุนัขสายพันธุ์ไทยมีพฤติกรรมกลัวช้างและไม่เห่าเฝ้าระวังภัย 2) การใช้ป้ายสื่อสารเฝ้าระวังภัย เมื่อป้ายเกิดความชำรุดทรุดโทรม ตัวอักษรเลือนรางโดยเฉพาะเวลากลางคืนและฝนตกมองถนัดมากนัก และช้างป่ามีการหากินหรือมีการเข้ามายังชุมชนหลากหลายเส้นทาง มีการย้ายเส้นทางในการเข้าสู่ชุมชน ทำให้ป้ายเฝ้าระวังภัย ไม่ตอบโจทย์การเฝ้าระวังภัย เท่าที่ควร 3) การใช้วิทยุสื่อสารเฝ้าระวังภัย การรับส่งสัญญาณของวิทยุสื่อสารสามารถส่งได้ในบริเวณไม่ไกลมากนัก หากเข้าสวนหรือไปทำธุระในพื้นที่ห่างไกลออกไปอาจพลาดการแจ้งเฝ้าระวังภัยได้ วิทยุสื่อสารมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่และการใช้อาจผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ 4) การใช้กล้องวงจรปิดเฝ้าระวังภัย เนื่องด้วยไม่สามารถจัดคนดูจอมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ หลายครั้งที่ช้างผ่านกล้องจึงไม่ได้รับการแจ้งเตือน และกล้องวงจรปิดมีค่าบำรุงรักษาสูงและไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูและรักษาอย่างจริงจัง 5) การใช้แอปพลิเคชันเฝ้าระวังภัย จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงในหลายพื้นที่ เด็กและผู้สูงอายุไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันเพื่อการรับข่าวสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าได้ และไม่สะดวกเมื่อต้องกรีดยาง เข้าสวน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วย วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 เพื่อศึกษาแนวทางการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยช้างป่าของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี นั้นพบว่า 1) ด้านการสื่อสารโดยใช้สุนัขสื่อสารเฝ้าระวังภัย ควรเลี้ยงสุนัขพันธุ์ต่างประเทศ เช่น ไซบีเรีย พิทบูล ปศุสัตว์อำเภอควรเข้ามาดูแลการเลี้ยงสุนัขอย่างใกล้ชิด อบรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงสุนัขเพื่อเฝ้าระวังภัยฯ 2) ในด้านการสื่อสารโดยใช้ป้ายเฝ้าระวังภัย ป้ายควรสามารถย้ายได้ตามสถานการณ์ ใช้วัสดุที่สะท้อนแสงมองเห็นได้ในเวลากลางคืนและเวลาฝนตก 3) ด้านการสื่อสารโดยวิทยุสื่อสารเฝ้าระวังภัย หน่วยงานรัฐควรสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องวิทยุสื่อสารให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการใช้วิทยุสื่อสารกับทุกภาคส่วน 4) ด้านการสื่อสารโดยใช้กล้องวงจรปิดเฝ้าระวังภัย การแจ้งเตือนควรแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านหอควบคุมส่วนกลาง 5) ด้านการสื่อสารโดยใช้แอปพลิเคชันเฝ้าระวังภัย ควรหาทางปลดล๊อกข้อกฎหมายว่าด้วยการตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในเขตป่าสงวนที่มีผู้คนอาศัย ควรมีการแนะนำการใช้แอปพลิเคชันให้กับผู้สูงอายุด้วย
ลิงค์ :