บทบาทของตะกอนแขวนลอยต่อคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลานิลระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิด
ผู้เขียน :
เอกนรินทร์ ธนะกิจไพรินท์ , สรวิศ เผ่าทองศุข , วิบูลย์ลักษณ์ พึ่งรัศมี
เผยแพร่วันที่ :
4 ธ.ค. 2558
วารสารวิชาการ :
วารสารวิจัยรำไพพรรณี
เล่มที่ :
8
ฉบับที่ :
2
หน้า :
93-100
ผู้เผยแพร่ :
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
รายละเอียด :
งานวิจัยนี้ศึกษาบทบาทของตะกอนแขวนลอยต่อการควบคุมสารประกอบอนินทรีย์ไนโตรเจนในบ่อเลี้ยงปลานิลที่ดำเนินการในสภาวะแบบหมุนเวียนน้ำระบบปิด โดยทำการทดลองเลี้ยงปลานิลที่ระดับความหนาแน่นสูง (2 กก./ลบ.ม.) และความหนาแน่นต่ำ (0.5 กก./ลบ.ม.) ซึ่งให้อาหารในแต่ละวันด้วยอัตราร้อยละ 5 ของน้ำหนักปลา สำหรับตะกอนแขวนลอยที่เกิดขึ้นภายในระบบมาจากสิ่งขับถ่ายของปลา เศษอาหารที่เหลือ จุลชีพและสารอินทรีย์ หลังการทดลอง 56 วัน พบว่าปลานิลมีอัตราการเติบโต 0.18 และ 0.14 กรัม/วัน สำหรับการเลี้ยงที่ระดับความหนาแน่นสูงและความหนาแน่นต่ำ ตามลำดับ และมีอัตราการรอดตายร้อยละ 100 การเลี้ยงปลานิลที่ระดับความหนาแน่นสูงผลของปริมาณตะกอนแขวนลอยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเกิดกระบวนการไนทริฟิเคชันจากแบคทีเรียไนทริไฟอิงที่ยึดเกาะอยู่กับตะกอนแขวนลอย โดยส่งผลให้มีปริมาณไนไทรตเพิ่มขึ้นในถังเลี้ยงปลา ในระหว่างการทดลองทำการดึงตะกอนแขวนลอยที่มีอินทรีย์ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบออกจากระบบเลี้ยงทั้งสองระดับความหนาแน่นด้วยอัตราร้อยละ 50 ของปริมาตรน้ำในถัง จำนวน 6 รอบ ผลประเมินสมดุลไนโตรเจนในวันสุดท้ายของการเลี้ยงปลาพบว่าไนโตรเจนมีการสะสมที่ตัวปลามากที่สุดคือร้อยละ 46.40 และ 54.12 ไนโตรเจนละลายน้ำทั้งหมดร้อยละ 16.91 และ 24.29 และอยู่ในตะกอนแขวนลอยร้อยละ 1.23 และ 0.99 สำหรับสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ร้อยละ 35.46 และ 20.60 ซึ่งเป็นไนโตรเจนที่สูญหายไปจากระบบ
ลิงค์ :