ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียของเชื้อแอคติโนมัยซีทที่แยกได้จากปูทะเลบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
ผู้เขียน :
วิญญู ภักดี , ชุตาภา คุณสุข , เสาวภา สุราวุธ , จิรภัทร จันทมาลี , ฉัตรมงคล สีประสงค์
เผยแพร่วันที่ :
20 พ.ค. 2564
ประเภท :
บทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ
วารสารวิชาการ :
การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 31 ประจำปี 2564
เล่มที่ :
ฉบับที่ :
หน้า :
1162-1170
ผู้เผยแพร่ :
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ
รายละเอียด :
เชื้อแอคติโนมัยซีทเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่มักแยกได้จากดิน แต่การศึกษานี้คัดแยกเชื้อดังกล่าวจากเหงือกและอวัยวะภายในของปูทะเลบางชนิดในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โดยสามารถแยกเชื้อได้ทั้งหมด 50 ไอโซเลท เมื่อทดสอบฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคบางชนิดด้วยวิธี cross steak พบว่ามีจำนวน 5 ไอโซเลท สามารถยับยั้งเชื้อ Bacillus cereus TISTR 2372 และ Staphylococcus aureus ATCC 25923 ได้ ซึ่งมีระยะยับยั้งอยู่ในช่วง 10.44 – 32.67 มิลลิเมตร โดยเชื้อแอคติโนมัยซีทรหัส API01 สามารถยับยั้งเชื้อทั้งสองได้ดีที่สุดโดยมีระยะยับยั้งเท่ากับ 22.78 ± 1.86 และ 32.67 ± 1.80 มิลลิเมตร ตามลำดับ จากนั้นทำการสกัดสารสกัดหยาบจากแอคติโนมัยซีทดังกล่าวโดยใช้ ethyl acetate เป็นตัวทำละลาย ได้สารสกัดหยาบมีลักษณะเป็นของหนืดสีแดงเข้ม เมื่อทำการหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้ง (minimal inhibitory concentration; MIC) และฆ่า (minimum bactericidal concentration; MBC) เชื้อ B. cereus TISTR 2372 และ S. aureus ATCC 25923 ด้วยวิธี broth microdilution พบว่าสารสกัดมีค่า MIC และ MBC ต่อเชื้อ B. cereus TISTR 2372 เท่ากับ 512 µg/ml แต่ค่า MIC และ MBC ต่อเชื้อ S. aureus ATCC 25923 มีค่ามากกว่า 1,024 µg/ml ลักษณะโคโลนีของเชื้อแอคติโนมัยซีทรหัส API01 มีสีเทาสร้างสปอร์สีขาว ลักษณะภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบสปอร์เป็นสายตรงมีการโค้งงอเล็กน้อย เมื่อศึกษาลำดับเบสของยีน 16S rRNA และ phylogenetic tree พบว่าเชื้อรหัส API01 มีความคล้ายคลึงกับเชื้อ Streptomyces atriruber NRRL B-24165T ร้อยละ 99.15 [คำสำคัญ : แอคติโนมัยซีท, ปูทะเล, อ่าวคุ้งกระเบน, Streptomyces atriruber]
ลิงค์ :